ชุมชนคนรุ่นใหม่หัวใจนักอนุรักษ์ “รักษ์ผ้าทอคุณย่าท่าน”
เพลินใกล้กรุง ครบรส กับ 1 Day Trip ที่“ชุมชนบ้านปึก” ชุมชนที่โดดเด่นด้วยหัวใจคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชักชวนผู้เฒ่า ผู้แก่ให้มาร่วมใจกันจัดตั้งกลุ่มผ้าทอมือโบราณเพื่อเผยแพร่ความล้ำค่าของผ้าโบราณให้ชาวไทยได้รู้จัก พร้อมๆ กับการเรียนรู้นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้ เพื่อรักษาต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ สร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวจากวิถีชีวิตให้ผู้มาเยือนประทับใจ หากวางแผนเที่ยวชลบุรีครั้งหน้า อย่าลืมปักหมุดมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ บ้านปึก ชลบุรี
กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านปึก ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
1. ชมการสาธิตการทอผ้าคุณย่าท่าน ผ้าทอมือโบราณ ที่เกือบเลือนหายไปตามกาลเวลา
2. ตั้งจิต สงบใจพับดอกบัวถวายพระ ที่วัดใหม่เกตุงาม
3. แกะ แคะ ชิม ลิ้มลองหอยนางรมสดๆ
4. ตามหาหน้าตาของ “ต้นแป้งท้าวยายม่อม”
5. เยี่ยมชมการสาธิตการทอผ้าโบราณ
6. ลงมือทำขนมไทยวุ้นกะทิใบเตยกับช่างขนมหวานประจำชุมชน (เมนูขนมเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาล และจำนวนนักท่องเที่ยว)
* นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วง และติดต่อชุมชนล่วงหน้า เพื่อให้ทางชุมชนได้เตรียมความพร้อมในแต่ละกิจกรรมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
1. ชมการสาธิตการทอผ้าคุณย่าท่าน ผ้าทอมือโบราณ ที่เกือบเลือนหายไปตามกาลเวลา
เริ่มกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านปึกกันที่ ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอมือบ้านปึกอ่างศิลา โดย น้องแป้ง (ลูกสาว) ตัวแทนกำนันเกษม อินทโชติ บอกเล่าภูมิปัญญาผ้าทอโบราณสมัยพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในรัชกาลที่ 5 ที่เลือนหาย กลับมาฟื้นคืนมีชีวิตด้วยความร่วมแรงร่วมใจของผู้นำชุมชน คนรุ่นใหม่ ในการอนุรักษ์รักษาลวดลายแห่งผืนผ้าที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวให้คงอยู่คู่ชุมชนตลอดไป ได้ชมการสาธิตการทอผ้า ตั้งแต่การกรอด้าย, การขึ้นลาย, การผูกเส้น รวมถึงการเขียนลายผ้าบาติก และกิจกรรมทำมือให้ผู้สนใจเข้าร่วมชมรวมถึงร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้ จุดเด่นของผ้าทอมืออ่างศิลา คือเนื้อผ้านิ่ม มีน้ำหนักเบา เมื่อนำมาตัดเย็บ ผู้สวยใส่รู้สึกสบายไม่ร้อนหรือระคายผิวเหมาะกับอากาศบ้านเรา ใช้สีย้อมผ้าจากวัตถุดิบธรรมชาติในท้องถิ่นแทนการใช้สีจากสารเคมี
2. ตั้งจิต สงบใจพับดอกบัวถวายพระ ที่วัดใหม่เกตุงาม
ในบริเวณใกล้ๆ กันเป็นที่ตั้งของวัดใหม่เกตุงาม ศุนย์กลางชุมชนของชาวบ้านปึก ที่มีอุโบสถเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี น้องแป้งพาพวกเราไปลองพับดอกบัว ด้วยตัวเองเพื่อนำไปถวายพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ภายใน มีลักษณะงดงาม รายล้อมไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง หลังคาอุโบสถเก่ามีลักษณะเป็นเกล็ด ทำจากกระเบื้อง มีสีค่อนข้างดำปนสีน้ำตาลตามอายุ บริเวณพื้นรอบๆ หน้าอุโบสถเก่าปูด้วยอิฐมอญสีน้ำตาลแดง
3. แกะ แคะ ชิม ลิ้มลองหอยนางรมสดๆ
บ้านปึกเป็นแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี หอยนางรมที่บ้านปึกเป็นที่นิยมเพราะอ้วนใหญ่ขาวสะอาด มีรสชาติดี อีกหนึ่งวิถีของชาวบ้านปึกคือการแกะหอยนางรม การทานหอยนางรมให้อร่อยนั้น ต้องมีขั้นตอนและเครื่องเคียงการทาน ให้อร่อย (อ้างอิงและสาธิตการชิมจากคุณเกษม อินทโชติ กำนันตำบลบ้านปึก) เริ่มต้นเลือกหอยที่เอ็นไม่ขาด ตักวางไว้บนช้อน ราดน้ำจิ้มซีฟู้ด ใส่พริกขี้หนู โรยด้วยหอมเจียวทีหลังเพื่อคงความกรอบ นำเข้าปากโดยให้ลิ้นสัมผัสบีบรัดที่ปลายของหอยนางรมให้แตกจนน้ำความขื่นของตัวหอยออกมา ก่อนรีบเด็ดใบกระถินใส่ปากตาม ยอดกระถินจะเปลี่ยนจากน้ำขื่นให้กลายเป็นรสหวานของหอยนางรมทันที อร่อยลืม
4. ตามหาหน้าตาของ “ต้นแป้งท้าวยายม่อม”
เคยได้ยินชื่อแป้งท้าวยายม่อมมานาน “ต้นเท้ายายม่อม” ตัวเป็นๆ นั้นหาดูได้ที่บ้านปึกนี่แหละ เป็นพืชตระกูลหัวปลูกมากในชุมชน เมื่อหัวท้าวยายม่อมโตเต็มที่ ก็จะนำไปบดเป็นผง เพื่อทำเป็นแป้งสำหรับใช้ประกอบอาหาร ขนมไทย ลักษณะของแป้งจะใส ความเหนียว ข้น มีความมันวาว หอมใสไม่คืนตัว นุ่มหนืด พอเข้าปากแป้งก็จะละลายในปาก แป้งท้าวยายม่อมที่แท้จะมีราคาค่อนข้างสูง คนจึงนิยมไปผสมกับแป้งอื่นๆ ด้วย หากอยากทานแบบไม่มีแป้งอื่นผสมต้องมาทานที่ชุมชนบ้านปึกนะคะ
5. เยี่ยมชมการสาธิตการทอผ้าโบราณ
ไปต่อกันที่บ้านทอผ้า ชมการสาธิตการทอผ้า โดยช่างทอผ้าป้าแดง และป้าแมะ ตัวแทนกลุ่มสตรีบ้านปึกในการสืบทอดการทอผ้าโบราณ ป้าเล่าว่าใต้ถุนเรือนของชาวบ้านปึกจะมีกี่ทอผ้าวางเรียงรายอยู่หลายตัว หากว่างเว้นจากการทำอาชีพหลัก ชาวบ้านก็ขยับมาจับกี่ทอผ้า เพื่อรังสรรค์ผ้าทอคุณย่าท่าน ลายต่างๆ ที่ได้รับความนิยม เช่น ลายตาหมากรุก ลายตาสมุก ลายตาตะแกรง ลายนกกระทา ลายหางกระรอก ลายไส้ปลาไหล เพื่อการนำไปพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่นี่กลุ่มสตรีแม่บ้านเขาได้เตรียมของว่างก่อนเราชมสาธิตวิธีการทอผ้า หลังจบการสาธิต ก็ยังจัดสำรับกับข้าวเป็นอาหารอร่อยๆ แกงผักบุ้ง คั่วปูใบชะคราม กะหล่ำปลีต้มซีอิ๊ว ล้อมวงกินด้วยกันบนแคร่ไม้หน้าบ้านจนอิ่มแน่น แทบกลิ้งกลับกันอีกด้วย
6. ลงมือทำขนมไทยวุ้นกะทิใบเตยกับช่างขนมหวานประจำชุมชน (เมนูขนมเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาล และจำนวนนักท่องเที่ยว)
ปิด 1 Day Trip กันที่ศูนย์เรียนรู้การทำขนมไทย บ้านป้าตุ๊ เพราะกินคาว ต้องกินหวานเป็นงานของพวกเรา มาเรียนรู้การทำขนมไทยง่ายๆ จากวัตถุดิบพื้นถิ่นโดยป้าตุ๊ ช่างของหวานประจำชุมชน วันนี้เราจะลงมือทำวุ้นกะทิใบเตย ป้าตุ๊เตรียมของไว้ให้เราเรียบร้อย ตัวกะทิหน้าวุ้นทีเด็ดที่ทำจากกระทิขูดเอง คั้นเอง กินเอง รับประกันความสด รสชาติอร่อยอย่าบอกใคร สำหรับกิจกรรมทำขนมนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามความพร้อมของวัตถุดิบ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ติดต่อเข้ามาล่วงหน้านะคะ
แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง (ระยะห่างจากชุมชน)
ศาลเจ้านาจาไทจื้อ
(2.2 กม.)
วิหารเทพสถิตพระกิติเฉลิม
(2.2 กม.)
พิกัดการเดินทางไปยังชุมชน
การเดินทาง
ติดต่อผู้ประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน และที่พักโฮมสเตย์ได้ที่