“บ้านท่าข้ามควาย” ตั้งอยู่ในอำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ชุมชนเล็ก ๆ ติดชายฝั่งทางออกสู่ทะเลอันดามันเขตรอยต่อน่านน้ำจังหวัดตรัง มีพื้นที่ชายฝั่งที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำและป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทำสวนยางพารา แต่ในปัจจุบันนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาสินค้าทางการเกษตรมีความไม่มั่นคงและราคาลดน้อยลง ทำให้ทางชุมชนได้เล็งเห็นถึงเครื่องมือในการสร้างรายได้เสริมเพื่อกระจายรายได้ให้กับชาวบ้าน ด้วยการพัฒนาสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับของดีของเด็ดในชุมชน พร้อมกับการเปิดพื้นที่พิเศษที่ซ่อนตัวอยู่กลางทะเลหน้าอ่าวทุ่งหว้า ให้นักท่องเที่ยวได้มายลโฉมความสวยงามของธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าข้ามควาย ถ้าพร้อมแล้ว…ใส่ชูชีพลงเรือ แล้วตามเราไปชมกันได้เลย
กิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าข้ามควาย อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล
1. ล่องเรือหน้าอ่าว เดินชมต้นไม้กลางทะเลที่หอสี่หลัง
2. ชมเศษเครื่องปั้นภาชนะจีนโบราณบนเกาะเหลาตรง
3. “น้ำลด สันหลังมังกรผุด” ชมสันทรายยาวกลางอ่าวทุ่งหว้า
4. ชมสุสานหอยเกาะตะบันและฝูงค้างคาวนับหมื่นตัว
5. แวะให้อาหาร “เหยี่ยวแดง” นกประจำถิ่นป่าชายเลน
6. ทานอาหารเที่ยง ปรุงสดโดยเชฟชุมชนบ้านท่าข้ามควาย
7. เรียนรู้เรื่องราวของโบราณที่พิพิธภัณฑ์บ้านท่าข้ามควาย
8. เข้าสวนชมศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านท่าข้ามควาย
9. “ระบำค้างคาว” จากไปให้คิดถึง โดยเยาวชนบ้านท่าข้ามควาย
* นักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบกิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วง และติดต่อชุมชนล่วงหน้า เพื่อให้ทางชุมชนได้เตรียมความพร้อมในแต่ละกิจกรรมได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
1. ล่องเรือหน้าอ่าว เดินชมต้นไม้กลางทะเลที่หอสี่หลัง
เช้าวันนี้เรามีนัดกับ พี่วิสูตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านท่าข้ามควาย ในการมาเรียนรู้ทำกิจกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนแบบวันเดย์ทริป ที่ศูนย์จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวบ้านท่าข้ามควาย ซึ่งมีลักษณะเป็นแพริมน้ำไว้สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว โดยในวันนี้เราจะเริ่มต้นกิจกรรมกันตั้งแต่ช่วงเช้า ด้วยโปรแกรมออกทะเลล่องเรือไปชมความมหัศจรรย์บนผืนน้ำตามจุดต่าง ๆ กลางอ่าวทุ่งหว้า โดยจุดหมายปลายทางแรก คือ “หอสี่หลัง” มีลักษณะพื้นที่พิเศษเป็นพื้นทรายแบนราบ แต่มีต้นไม้ยืนต้นขึ้นอยู่กลางทะเลเป็นแนวยาวอย่างน่าอัศจรรย์ อีกทั้งบนพื้นทรายยังเต็มไปด้วยกองทัพปูก้ามดาบโชว์ก้ามสีส้มวิ่งไปมาให้เราได้เห็นกัน ซึ่งการจะมาเดินชมหอสี่หลังนั้น จะมาได้ในช่วงที่น้ำลดลงเต็มที่ของวันเท่านั้น
ประมาณการค่าใช้จ่ายล่องเรือทำกิจกรรมทางทะเล ราคา 1,000 บาท/ ลำ
2. ชมเศษเครื่องปั้นภาชนะจีนโบราณบนเกาะเหลาตรง
“เกาะเหลาตรง” ตั้งอยู่ในเขตน่านน้ำทะเลตรัง-สตูล เป็นเกาะที่มีชายหาดเล็ก ๆ ทรายละเอียดสีขาว อีกฝั่งของเกาะติดกับคลองป่าชายเลน ในอดีตสันนิษฐานกันว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนชาวจีนโบราณที่แล่นเรือมาแลกเปลี่ยนค้าขายสินค้ายังเมืองท่าตันหยงสตาร์ โดยพบหลักฐานเศษซากเครื่องถ้วยชามเขียนสี เครื่องถ้วยชามน้ำเงินขาว โอ่ง และไห ที่ขนมาจากเรือของเมืองปีนังในสมัยรัชกาลที่ 5 อีกทั้งยังมีซากปรักหักพังของศาลเจ้าจีนโบราณตั้งอยู่ใกล้เคียงกันอีกด้วย ปัจจุบันได้พัฒนาเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกับความสวยงามและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจบนเกาะเหลาตรง
ประมาณการค่าใช้จ่ายล่องเรือทำกิจกรรมทางทะเล ราคา 1,000 บาท/ ลำ
3. “น้ำลด สันหลังมังกรผุด” ชมสันทรายยาวกลางอ่าวทุ่งหว้า
ล่องเรือต่อมายังบริเวณกลางทะเลใกล้เกาะเหลาตรง นักท่องเที่ยวจะได้พบกับ “สังหลังมังกรเหลือง” กลางอ่าวทุ่งหว้า โผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เราได้ชม มีลักษณะเป็นสันทรายยาวกว่า 1.5 กิโลเมตร โดยมีวิวเขาสูงใหญ่ของเกาะสะบันเป็นฉากหน้า หากได้มีโอกาสมารอชมแสงเย็นบนสันหลังมังกรเหลือง จะได้พบกับภาพของทรายสะท้อนแสงสีส้มของพระอาทิตย์ คล้ายกับมีคนมาวางอัญมณีบนพื้นทรายกลางทะเล ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนแห่งใหม่ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะมาสัมผัสด้วยตัวคุณเอง
ประมาณการค่าใช้จ่ายล่องเรือทำกิจกรรมทางทะเล ราคา 1,000 บาท/ ลำ
4. ชมสุสานหอยเกาะตะบันและฝูงค้างคาวนับหมื่นตัว
“เกาะตะบัน” มีลักษณะเป็นเกาะภูเขาหินปูนมีหน้าผาสูงชัน ตั้งอยู่กลางอ่าวทุ่งหว้า มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าค้นหาซ่อนอยู่มากมายภายในเกาะ ทั้งซากหอยเดือนที่ถูกทับถมกันเป็นชั้น ๆ ในสภาพสมบูรณ์ และซากดึกดำบรรพ์โบราณอย่างพลับพลึงทะเล ปะการังสกุลโบราณ และหอยสองฝา ที่ฝังตัวตามหินปูนให้เราได้ชมกันบนเกาะ นอกจากนี้ในช่วงพลบค่ำใกล้มืด ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ห้ามพลาดชมเลยก็คือ ฝูงค้างคาวแม่ไก่นับหมื่นตัวที่ทยอยบินออกจากรังด้านบนสุดของภูเขาหินปูน โดยชาวบ้านเล่าว่ามันจะออกบินไปหากินผลไม้ยามค่ำคืนยาวไกลกว่าหลักร้อยกิโลเมตร
ประมาณการค่าใช้จ่ายล่องเรือทำกิจกรรมทางทะเล ราคา 1,000 บาท/ ลำ
5. แวะให้อาหาร “เหยี่ยวแดง” นกประจำถิ่นป่าชายเลน
ระหว่างทางกลับเข้าฝั่ง ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจในการมาสัมผัสการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านท่าข้ามควาย คือ การให้อาหาร “เหยี่ยวแดง” นกประจำถิ่นฝูงใหญ่นับร้อยตัวที่อาศัยทำรังอยู่บนยอดไม้สังคมป่าชายเลนรอบชุมชน โดยคนเรือจะใช้วิธีการผิวปากเรียกเหยี่ยวแดงให้ออกมากินอาหารสด ๆ ที่เตรียมไว้ เช่น หนังไก่หรือเครื่องในสัตว์ โดยเมื่อเหยี่ยวแดงได้ยินเสียงและทยอยบินออกมา ให้โยนหนังไก่สดลงไปในน้ำ ทันใดนั้นเหยี่ยวแดงก็จะบินมาจับเหยื่อให้เห็นกันแบบใกล้ลำเรือ ไม่ว่าเนื้อไก่ชิ้นนั้นจะเล็กแค่ไหนก็ตาม แต่ด้วยสายตาอันคมกริบของเหยี่ยวแดง ก็สามารถโฉบบินลงมาถึงเป้าหมายได้อย่างแม่นยำและสวยงาม
ประมาณการค่าใช้จ่ายล่องเรือทำกิจกรรมทางทะเล ราคา 1,000 บาท/ ลำ
6. ทานอาหารเที่ยง ปรุงสดโดยเชฟชุมชนบ้านท่าข้ามควาย
นื่องจากชุมชนบ้านท่าข้ามควายอยู่ติดกับทางออกสู่ทะเล ทำให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ไม่เคยขาด จึงนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยวกินกัน ซึ่งเราจะได้ทานอาหารเมนูไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นในทะเลหรือคลองจับสัตว์น้ำอะไรได้บ้าง สำหรับครั้งนี้มีเมนูพื้นบ้านสุดพิเศษที่เราแทบจะไม่เคยกินและรู้จักกันมาก่อนอย่าง “แกงตอแมะ” เป็นแกงเผ็ดปลาทะเลใส่กะทิ รสชาติอร่อยเข้มข้น ทานคู่กับ “คั่วเคยฉลู” ทำมาจากเคยกุ้งหมักเค็มผัดกับหมูสับ กินคู่กับผักสด พร้อมจบด้วยการซดน้ำแกงร้อน ๆ ด้วย “แกงเลียงปลาย่างใส่ใบส้มเม่า” รสชาติเปรี้ยวกลมกล่อมคล่องคอ
ประมาณการค่าใช้จ่ายทานมื้ออาหารพื้นบ้านท่าข้ามควาย 150 – 300 บาท/ คน (ราคาขึ้นอยู่กับจำนวนคน)
7. เรียนรู้เรื่องราวของโบราณที่พิพิธภัณฑ์บ้านท่าข้ามควาย
หลังจากทานอาหารเที่ยงและพักผ่อนแพริมน้ำกันจนอาหารย่อยแล้ว ก็ได้เวลาเข้าไปดูของดีของเด็ดในชุมชนบ้านท่าข้ามควายกัน โดยเริ่มจาก “พิพิธภัณฑ์บ้านท่าข้ามควาย” เป็นแหล่งรวบรวมของเก่าของโบราณที่เกิดจากการเก็บสะสมอนุรักษ์ไว้ของคนในชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนคนรุ่นหลังได้มาศึกษาเรียนรู้วิวัฒนาการของเครื่องใช้โบราณ เช่น ตะเกียงไฟ ขวดน้ำ วิทยุ จักรเย็บผ้า นาฬิกา ซึ่งล้วนแล้วแต่มีหน้าตาที่ไม่คุ้นชินและหาชมได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน
8. เข้าสวนชมศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียงบ้านท่าข้ามควาย
การทำการเกษตร เป็นวิถีชีวิตอาชีพหลักของชาวชุมชนบ้านท่าข้ามควาย แนวทางของการทำการเกษตรแบบพออยู่พอเพียงจึงได้ถูกนำมาปรับใช้กับคนในชุมชน ด้วยการปลูกพืชที่มีความหลากหลายในพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดรอบบ้าน ทั้งพืชสวนครัวและผักสมุนไพร ซึ่งล้วนแล้วแต่ปลอดสารพิษ เพราะชาวบ้านที่นี่ใช้ภูมิปัญญาน้ำหมักปุ๋ยชีวภาพจากธรรมชาติในการดูแลพืชผักให้เจริญเติบโตและปราศจากศัตรูพืช นอกจากนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ในการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกพืชผลริมสระน้ำ ถือเป็นแบบอย่างที่น่าเรียนรู้ในการทำการเกษตรผสมผสานและนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้อีกด้วย
9. “ระบำค้างคาว” จากไปให้คิดถึง โดยเยาวชนบ้านท่าข้ามควาย
ก่อนจากชุมชนนี้ไป เราได้ชมเซอร์ไพรส์เล็กๆ สุดน่ารักจากเด็กในชุมชนบ้านท่าข้ามควายที่มารวมตัวกันทำการแสดง “ระบำค้างค้าว” ให้กับนักท่องเที่ยวได้รับชมก่อนกลับ ซึ่งการแสดงระบำค้างคาวนั้น เกิดจากการที่ชุมชนมองเห็นว่ากิจกรรมท่องเที่ยวการดูค้างคาวแม่ไก่ออกหากินที่เขาตะบัน เป็นกิจกรรมที่มีความโดดเด่นและอยากจะสร้างอัตลักษณ์ให้กับชุมชนบ้านท่าข้ามควาย จึงได้คิดแต่งเพลงและพัฒนาท่าเต้นออกมาเป็นการแสดง โดยมีเอกลักษณ์อยู่ที่ตัวชุดเป็นแขนมีปีกสีดำทั้งตัว ซึ่งถอดแบบมาจากค้างคาวแม่ไก่ ให้นักท่องเที่ยวได้จดจำชุมชนบ้านท่าข้ามควาย ว่าครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้มาชมค้างคาวแม่ไก่ ณ ที่แห่งนี้ สำหรับใครที่อยากมาชมการแสดงน่ารักแบบนี้ แนะนำว่าต้องโทรจองและนัดคิวกับทางชุมชน เพราะน้อง ๆ ในชุมชนจะได้ทำการซักซ้อมเตรียมตัว ทำการแสดงต้อนรับให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างครบทีม
พิกัดการเดินทางไปยังชุมชน
การเดินทาง
ติดต่อผู้ประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชน และที่พักโฮมสเตย์ได้ที่
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Community based tourism
Ban Tha Kham Kwai community
Thung Wa
Satun